วิธีการอ่านหนังสือ ฉบับคนคิดมาก

    


    ผมเป็นคนคิดมากที่ชอบอ่านหนังสือครับ หนังสือที่ผมอ่านบ่อย ๆ จะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา, และศาสนา มันเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวว่า ผมมาถึงจุดนี้ได้ยังไง? ผมหมายถึง ผมรับมือกับความรู้ได้ยังไง เมื่อผมเป็นคนคิดมาก? ความสามารถพิเศษของคนคิดมาก (ที่ทำร้ายจิตใจเราไม่น้อย) คือ การคิดเป็นจำนวนเยอะ ๆ เมื่อเราพูดว่าเป็นจำนวนเยอะ ๆ ภาพที่ลอยออกมาก็คือ ความคิดก้อนเมฆที่ลอยตุ้บป่องจำนวนมากที่รอการจัดระเบียบ การอ่านหนังสือเป็นเหมือนกับการเอาความคิดก้อนเมฆอีกก้อนเข้ามาในสมอง ความท้าทายของคนคิดมากที่อ่านหนังสือคือ การที่เราต้องไม่จมกับความคิดและสามารถนำความคิดไปใช้ในชีวิตจริงได้ ผมจะมาพูดถึงวิธีการอ่านหนังสือในแบบของผมเองครับ

หาแนวที่ชอบอ่าน (Find Your Genres)

    จุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือคือการที่เราอ่านหนังสือที่ชอบ ผมชอบแนวคิดนี้มากเลยครับ เพราะตัวผมเองก็ใช้วิธีการนี้ในการเริ่มอ่านหนังสือ ตอนแรกผมอ่านแต่หนังสือการ์ตูน จากนั้นผมก็เริ่มหันมาอ่านหนังสือศาสนา เพราะในตอนนั้นกำลังอินกับศาสนาพุทธ การตามหาแนวที่ชอบเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา มากน้อยก็แล้วแต่บุคคล คุณอาจเริ่มจากการสังเกตว่าตัวเองดูหนังประเภทไหนได้นานและรู้สึกเอนจอยก็ได้ครับ ผมเชื่อว่าในช่วงชีวิตของเราจะได้เจอหนังที่ทำให้เรา เฮ้ย ฉันชอบหนังเรื่องนี้จัง อะไรทำนองนั้นครับ คุณอาจไปดูหนังที่มีประเภทเดียวกันในอนาคตหลังจากดูหนังเรื่องนั้นจบ ผมชอบดูหนังแอคชั่นครับ ผมไม่ต้องคิดอะไรเยอะเลยในการดูหนังประเภทนี้ สิ่งที่นำเสนอในเรื่องคือฉาก สู้กัน สู้กัน แล้วก็ระเบิดตู้มตาม หรือเป็นหนังแนวทรชนที่เน้นเรื่องการต่อสู้ในชีวิตจริง อย่างเช่น Jonh Wick ผมรู้ว่ามันคือหนังแอคชั่นแฟนตาซีไปแล้ว แต่ผมก็ประทับใจกับฉากของ ดอนนี่ เยน เล่นเป็นคนตาบอดแล้วต่อสู้กับศัตรูในห้องครัว เรารู้ว่ามันยากมากที่เราจะเห็นคนตาบอดทำแบบนั้นได้ เราเลยชอบฉากนี้มาก ๆ เช่นกัน

    เมื่อคุณเจอแนวของหนังที่ชอบมันสามารถสานต่อได้ในการอ่านหนังสือ ผมอยากแนะนำให้ลองไปอ่านหนังสือในห้องสมุดดูครับ ไม่ได้เพื่อทำให้คุณดูเป็นเด็กเรียน แต่เพื่อให้ไปทดลองอ่านหนังสือหลาย ๆ แนวที่ห้องสมุด จะได้เจอกับแนวที่ตัวเองชอบสักแนว ความรู้สึกแรกจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณชอบหนังสือแนวไหน ผมทดลองอ่านตั้งแต่หนังสือสอนจัดบ้านไปจนถึงพระคัมภีร์ไบเบิ้ล เพื่อตามหาว่าเล่มไหนที่ถูกใจผมมากที่สุด ความคิดมากอาจมาหาคุณได้ว่า ฉันยังไม่เจอแนวที่ชอบเลย ฉันเป็นคนไม่มีหัวเรื่องการอ่านหนังสือหรือเปล่านะ? ผมแนะนำให้ปล่อยความคิดนั้นลงกับพื้น แล้วออกตามหาหนังสือที่ชอบต่อไปครับ ประสบการณ์ความรู้สึกแรกต่อหนังสือเหมือนกับความรู้สึกรักแรกครับ เราไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว เมื่อคุณเจอกับหนังสือที่คุณคิดว่าคุณน่าจะชอบผ่านความรู้สึกแว็บแรก ความคิดนี้จะเข้ามาในหัว มันจะเป็นหนังสือที่ฉันชอบจริง ๆ หรือเปล่านะ? แล้วถ้าไม่ใช่ล่ะ? ผมก็ยังแนะนำว่าให้ปล่อยความคิดนั้นลงไปครับ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหนังสือเล่มนั้นเหมาะกับเราหรือเปล่า คือการอ่านหนังสือเล่มนั้นสัก 1 สัปดาห์ครับ หากคุณหมดกำลังใจการอ่านตั้งแต่ 10 นาทีแรก ก็แค่ออกไปหาหนังมือเล่มใหม่ แต่ให้สงสัยว่า ทำไมเราถึงเลือกหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมา ทั้งที่ก็มีหนังสืออีกเป็นพันเล่มในห้องสมุด? สังเกตว่าหนังสือที่หยิบเป็นหนังสือประเภทอะไร คุณอาจจดลงสมุดพกส่วนตัวก็ได้ถ้าคุณต้องการ คุณจะผ่านกระบวนหาหนังสือ เจอความคิดมาก อ่านหนังสือ แล้วก็เจอความคิดมากอีกที

แค่อ่านมัน (Just Read)

    ไม่มีวิธีการอะไรในบทนี้ นอกจากคุณต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่า ถ้าหากคุณเลือกหนังสือที่ชอบจริง ๆ คุณจะอ่านมันจนจบหนึ่งบทหรือลากยาวไปจนจบเล่ม ทีนี้, วิธีการมันฟังดูง่ายสำหรับคนทั่วไป (หรือคนชอบอ่านหนังสือ) แต่สำหรับคนคิดมากอย่างผมอาจเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นคือ ไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ  ไม่ว่าจะมาจากเสียงที่ดังเกินไปหรือเพราะความคิดในหัวมันอีรุงตุงนัง วิธีการแก้เพื่อให้มีสมาธิคือ เลือกหาพื้นที่เงียบ ๆ ในห้องสมุด ห้องสมุดมีมารยาทและกฏระเบียบให้ทุกคนต้องไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น เพราะงั้นผมแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ ลองไปห้องสมุดดูครับ ถ้าหากไม่สะดวกไปห้องสมุด ก็ลองเช่าหนังสือสักเล่ม (หรือคุณจะซื้อมาก็ได้) ไปอ่านในคาเฟ่เล็ก ๆ ที่มีพื้นที่ปลอดโปร่ง เพื่อให้คุณจดจ่อกับการอ่านได้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากคุณเป็นเหมือนผมที่ไม่ชอบออกไปข้างนอก คุณอาจจะอ่านหนังสือในห้องนอนของคุณ แล้วพยายามทำให้ห้องเงียบที่สุดก็ได้ ถ้าแม้แต่ห้องนอนของคุณไม่ใช่พื้นที่ที่เงียบสงบ ให้ลองออกตามหาพื้นที่ที่สะดวกที่สุดในมุมมองของคุณเอง หรือทางแก้แบบเสียเงินแพง ๆ ก็คือการซื้อหูฟังที่มี Noise-Canceling ก็ได้เช่นกัน 

    การเลือกสถานที่หรือซื้อหูฟังแพง ๆ เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นในการอ่านหนังสือของคนคิดมาก สิ่งที่พวกเราต้องเผชิญจริง ๆ ในการอ่านหนังสือ ไม่ใช่เสียงจากภายนอก แต่เป็นเสียงจากภายใน ผมต้องต่อสู้กับเสียงหรือความคิดที่มันแล่นเข้ามาในหัวตลอดเวลาที่อ่านหนังสือ จนทำให้บางครั้งผมเสียสมาธิในการอ่านไป ตอนผมกำลังอ่านหนังมือเกี่ยวกับศาสนาพุทธที่สอนให้ผมปล่อยวางความคิด ความคิดก็แล่นเข้ามาในหัวผมว่า เราปล่อยวางความคิดหรือยังนะ? จากนั้นผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นต่อสักระยะ เสียงภายนอกเรายังพอเลือกสถานที่และแก้ปัญหาด้วยเงินได้ แต่เสียงภายในเป็นเรื่องที่คนคิดมากต้องฝึกฝนในการรับมือ และไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้ (หรืออาจแก้ได้ ด้วยการจ่ายเงินให้จิตแพทย์ แต่คุณก็ต้องลงมือบำบัดตัวเองเหมือนกัน!) ทางแก้ของเสียงภายในคือ การสังเกตเห็นเสียงในหัว ถ้าคุณมีสติรับรู้เสียงในหัวได้ ผ่านไปสักระยะมันจะหายไปเอง ไม่ใช่การที่คุณจดจ่อมาก ๆ ว่า หายไปซะ หายไปซะ หายไปซะ แต่ทำให้เหมือนกับว่าคุณกำลังนั่งดูก้อนเมฆที่ลอยไปมา ด้วยความตั้งใจที่พอดี ความตั้งใจที่พอดีเป็นยังไง? ความตั้งใจที่พอดีคือ ความตั้งใจที่คุณไม่รู้สึกว่ามันท้วมท้น (Overwhelm) หรือปล่อยละหลวมเกินไป (Loosely) คุณจะไม่รู้สึกว่าการสังเกตความคิดเหล่านั้น มันทำให้คุณเหนื่อยล้าจนทนไม่ไหว หรือทำให้คุณสมองไหล งานหาจุดสมดุลของการสังเกตเป็นการฝึกของคนคิดมากครับ

    เมื่อคุณสังเกตเสียงในหัว พวกมันจะหายไปในไม่ช้า และคุณจะสามารถอ่านหนังสือได้อย่างสะดวก แต่ความคิดก็จะกลับมาหาคุณอีกครั้ง บางทีความท้าทายของการอ่านหนังสำหรับคนคิดมากคือ การสังเกตเสียงในหัวแล้วต้องรับความรู้ใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน ดังนั้นในบทต่อไปจะช่วยให้คุณอ่านหนังสือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

จดความคิดลงไป (Write Your Thought)

    แต่ก่อนตอนผมอ่านหนังสือ ผมไม่จดสรุปหนังสือเลยครับ สุดท้ายผมก็จำไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนั้นให้ความรู้อะไรผม หรือถ้าหากจำได้ มันก็น้อยมาก ๆ สำหรับคนคิดมาก ความท้าทายของเราคือการแยกประเภทและจัดความเป็นระเบียบในหัว สิ่งที่อยู่ในหัวจะยุ่งเหยิงมาก ๆ จนทำให้สับสนได้ว่าอะไรคืออะไร ทางแก้ที่ช่วยชีวิตผมได้คือ การจดสรุปในแบบของผมเอง สำหรับนักพัฒนาตัวเองด้าน Productivity คุณคงเคยได้ยินวิธีการนี้มานานมากแล้ว ผมเป็นอีกหนึ่งเสียงที่มายืนยันว่า วิธีการนี้มันช่วยให้สมองผมลดภาระความคิดลงไปเยอะ ผมชอบแนวคิด สมองที่สอง (Second Brain) มากเลยครับ เหมือนกับคำพูดที่ว่า สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว 

    การจดสรุปเป็นขั้นตอนที่ช่วยคนคิดมากได้ดี นอกจากจะทำให้ความคิดเราเป็นระเบียบแล้ว มันช่วยให้เราผ่อนคลายจากความคิดด้วย ถ้าหากสานต่อไปทางการเขียนบันทึกไดอารี่ ความคิดมากของคุณก็จะบรรเทาลงด้วยเช่นกัน ปัญหาของความคิดมากคือ ไม่รู้ว่าจะจัดระเบียบยังไง การเขียนลงไปนี่แหละครับ ที่จะจัดระเบียบความคิดได้ ผมแนะนำให้ลองไปเรียนการเขียนในคอร์สออนไลน์ที่เปิดสอนดูครับ อันนี้ขายให้ฟรีเลย เป็นคอร์ส Writing 101 ของแอดทอย จากเพจ DataRockie ผมเองก็ลงเรียนคอร์สนี้เหมือนกัน (นอกจากนั้นผมยังเรียนเกี่ยวกับ SQL และ Data Analyst จากแอดทอยแบบฟรี ๆ ด้วย) การเขียนมันช่วยให้เราจัดระเบียบความคิด ความคิดเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์จำพวกอื่น ๆ คำแนะนำของผมที่เหมือนกับแอดทอยคือ เริ่มฝึกเขียนซะ!

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรียนยังไง ให้ไม่คิดมากเกินไป โดยคนคิดมาก

เพราะฉันคือ 10 of Swords