อยู่ร่วมกับคนอื่นยังไง ให้ออกมาดี ฉบับคนคิดมาก
ความคิดมากเป็นปัญหาที่คอยมาขัดขวางความสุขเสมอ รวมถึงความสุขจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย ผมเข้าใจดีว่า คนคิดมากไม่ได้ต้องการสร้างประสบการณ์แย่ ๆ ให้กับคนอื่น กลับกัน, พวกเราพยายามอย่างหนักในการคิดว่า จะทำให้คนอื่นชอบเรายังไง? มันเป็นเรื่องที่ผมเคยเจอมาแล้ว และผมอยากจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนอ่านกันครับ นอกจากนั้นผมจะมาบอกวิธีการที่ได้ตกผลึกจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
การตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาด
คนคิดมากมักจะเป็นคนที่คิดอะไรหลายอย่างเพื่อเป้าหมายเดียวคือ การทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด คำว่า ดีที่สุด หมายถึง จะไม่มีปัญหาอะไรเข้ามาทำลายผลลัพธ์นี้ได้ เพราะอย่างนั้นเอง เลยทำให้เราคิดและตัดสินใจนานมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราหวังว่าคนรอบข้างจะเข้าใจว่า พวกเราก็อยากให้ผลลัพธ์ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์) ออกมาดี ไม่มีใครอยากโดนตัดหางปล่อยวัดจากเพื่อนหรอกครับ บางครั้งความคิดมากก็ทำให้เราแก้ปัญหาบางอย่างได้ในความสัมพันธ์ แต่หลายครั้งเราจะได้รับคำตอบหรือท่าทางที่อึดอัดกลับมามากกว่า ซึ่งพวกเราไม่ได้ต้องการแบบนั้น, คุณ (ที่เป็นคนคิดมาก) ก็รู้!
มันเป็นปัญหาคาราคาซังที่ยากในการแก้ คุณบอกคนคิดมากให้คิดน้อยลงไม่ได้ เพราะพวกเขาจะคิดว่า พวกเขาจะคิดให้น้อยลงยังไง? หรือคุณบอกกับพวกเขาว่า ให้คิดแบบง่าย ๆ ไม่ได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาจะคิดว่า แบบนี้ยังไม่ง่ายเหรอ? ก็ในเมื่อความยากง่ายมันแล้วแต่คนจะตีความ บางทีความง่ายของคนคิดมากคือ การคิดอย่างเป็นระบบที่ฟังดูซับซ้อน ก็เป็นได้ เพราะแบบนั้นมันเลยทำให้การตัดสินใจของเราไม่เด็ดขาดและใช้เวลานาน จากการที่เรามีวิธีการที่ซับซ้อนหลายแบบ และเมื่อต้องตัดสินใจลงมือทำ มันก็ดันฟังดูดีทั้งหมด!
ปัญหานี้เกิดขึ้น เมื่อผมต้องเล่นเกม Valorant กับกลุ่มรุ่นพี่ที่เล่นมานาน ในตอนนั้น ผมติดปัญหาในเรื่องของการตัดสินใจที่นานเกินไปครับ Valorant เป็นเกมแนว Tactical 5v5 ที่สิ่งสำคัญในการชนะเกมคือ แผนการ, การตัดสินใจที่เด็ดขาด, และการเล็ง (Aim) ผมเป็นผู้เล่นใหม่ที่ไม่มีทั้งแผนการและการเล็ง แถมติดปัญหาเรื่องการตัดสินใจที่ช้าอีกต่างหาก ผมโดนรุ่นพี่เตือนเรื่องการตัดสินใจที่ช้าเกินไป จะส่งผลให้ทีมทำงานลำบาก แผนการและการเล็งเป็นเหมือนกับการออกกำลังกายที่ฝึกทางด้านกายภาพ ส่วนการตัดสินใจที่เด็ดขาดเป็นเรื่องที่ต้องฝึกทางด้านจิตใจครับ ในปัจจุบันนี้ ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่งนะครับ แต่การติเตียนครั้งนั้น มันทำให้ผมโตขึ้นในทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว
การขัดแย้งกันในเรื่องความคิด
บางครั้งตอนที่คนคิดมากตัดสินใจว่าจะทำเรื่องนี้ (หลังจากใช้เวลาคิดมาหลายชั่วโมงหรืออาจหลายวัน) ก็ต้องมาเจอกับความจริงที่ว่า คนอื่นไม่ได้ชอบในการตัดสินใจอันนี้ของเรา สำหรับคนคิดมากบางคนอาจไม่ได้ต่อล้อต่อเถียง และเลือกที่จะจบปัญหาด้วยการเงียบ เก็บกดความรู้สึกที่ไม่พอใจลงไป แล้วไปคิดมากในห้องนอนต่อ แต่สำหรับคนคิดมากบางคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง มากเกินไป พวกเขาจะต่อล้อต่อเถียง เพื่อให้การตัดสินใจของพวกเขาชนะ จนลืมไปว่า การตัดสินใจนี้มีไว้เพื่ออะไร ไม่ว่าคนคิดมากจะเลือกทำอะไรต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ พวกเขาจะกลับไปคิดมากในห้องนอน และรอวันที่ความเครียดระเบิดออกมา
สมัยที่ผมเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย ในคาบการงานอาชีพฯ เพื่อนร่วมห้องของผมนั่งคุยกันอย่างสนุกสนานเรื่องจะหางานอะไรมาทำดี พวกเขาแซวเล่นว่า พวกเราอาจจะขายอุปกรณ์ช่วยตัวเองก็ได้ แล้วหัวเราะออกมา ในหัวของคนคิดมากที่พ่วงด้วยภาพลักษณ์ที่ดูจริงจัง ผมเห็นถึงศักยภาพของการทำธุรกิจนั้น (แบบผิด ๆ ) แน่นอนว่าการเลือกแสดงความคิดนั้นออกมา ผมจมอยู่กับความคิดนั้นพอสมควร แต่ผลลัพธ์จากการแสดงความคิดนั้นออกไปคือ เพื่อนร่วมห้องประณามผมว่า มันไม่มีเด็กมัธยมปลายสติดีที่ไหน เอาเรื่องตลก ๆ มาทำจริงหรอก! ใช่ครับ, ถ้าหากผมในตอนนี้ได้ฟังผมในตอนนั้น ผมก็คงร่วมตำหนิด้วยเช่นกัน สำหรับผมที่เป็นคนคิดมากและคนจริงจัง ผมแยกไม่ค่อยออกว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องที่พูดเพื่อให้เกิดความสนุกเฮฮา หรือเรื่องไหนที่ต้องการพูดเพื่อหาทางออก ในตอนนี้มันอาจลดหย่อนลงมาบ้าง แต่ในตอนมัธยมปลาย ผมเป็นคนจริงจังและคิดมากที่สุดในห้องที่เต็มไปเด็กร่าเริงและหัวกบฎครับ ผมเลยไม่แปลกใจที่ผมจะรู้สึกว่า ผมแปลกแยกและขัดแย้งกับเพื่อนในห้อง จนผมต้องไปหวังพึ่งเพื่อนจากห้องอื่นแทน
การไปเที่ยวกับเพื่อนที่อยู่ต่างแดน
ผมมีเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าเพื่อนในชีวิตจริง ผมรู้สึกว่าผมเป็นตัวเองได้เต็มที่ในโลกออนไลน์ เพราะงั้นการได้เจอกับพวกเขาในชีวิตจริงจึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ากังวล ผมจะทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดหรือเปล่า? พวกเขาจะชอบผมที่เป็นแบบนี้ไหม? ไม่ว่าผมจะก้าวข้ามความคิดมาก อีกสักเท่าไหร่ ผมก็จะกลับมาคิดแบบนี้ทุกครั้ง ถ้ามันมีช่องให้คิด
เมื่อผมเจอพวกเขาครั้งแรก ผมรู้สึกโล่งใจแปลก ๆ ที่พวกเขายังเหมือนกับที่ผมคุยกับพวกเขาในโลกออนไลน์ (ผมคิดว่า โลกออนไลน์และโลกจริง ผู้คนจะแสดงนิสัยต่างกันออกไป มาตราฐานนี้มาจากตัวของผมเอง) พวกเราได้ไปเที่ยวด้วยกันหลายที่ และวันนั้นก็เป็นวันที่ผมมีความสุขมากอีกวัน เมื่อได้เจอกับกลุ่มเพื่อนที่ไว้ใจ มันทำให้เรารู้สึกว่า มันโอเคที่จะปล่อยวางความคิด โดยที่ในวันสุดท้าย ผมก็กลับมาคิดว่า ผมทำได้ดีหรือเปล่า ในการเจอกันครั้งนี้?
อีกเรื่องที่ไม่เล่าไม่ได้คือ การได้ไปเที่ยวกับคู่หูของผม ผมได้ไปนอนค้างบ้านของเขา ที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเรา แตกต่างกันสุดขั้ว ปกติแล้ว ผมกับคู่หูมีนิสัยแตกต่างกันเป็นทุนเดิม เลยไม่ค่อยแปลกใจอะไรมาก แต่การได้ไปค้างคืนที่บ้านเขา มันทำให้ผมรู้ตัวเลยว่า ถ้าหากผมเป็นแบบนี้ต่อไป ผมซวยแน่ ซวยขั้นสุด ซวยแบบไม่สามารถกลับมาเป็นผู้ใหญ่ได้ ผมยอมรับว่า ตัวผมมีพฤติกรรมในชีวิตจริงที่แตกต่างจากโลกออนไลน์ และมันเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณด้วย จากหนังสือ The Roadless Traveled (1978) ของ Scott Peck, M.D ได้เขียนให้ผมเข้าใจว่า การเติบโตทางจิตวิญญาณมันคือการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ผมที่ได้เข้าใจแบบนั้น เลยหันกลับมาคิดกับตัวเองว่า ถึงเวลาที่เราต้องเป็นผู้ใหญ่จริง ๆ แล้ว
วิธีการที่ตกผลึกจากประสบการณ์จริง
สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นวิธีการที่ทำให้ผม เริ่มกลับมาเป็นผู้ใหญ่ และทำให้คนคิดมากอย่างผม ไม่สร้างความลำบากใจให้กับคนอื่นอีก (อย่างน้อยในความคิดผม) ผมหักดิบตัวเองด้วยการลองไปเจอกับผู้คนใหม่ ๆ ที่ผมไม่รู้จัก (ในโลกออนไลน์) เพื่อทดลองวิธีการเหล่านี้ และมันได้ผล! ผมอ้างอิงวิธีการจากหนังสือ อย่าเป็นคนเก่งที่คุยไม่เป็น (2019) ของ Yasuda Tadashi (ไว้ผมจะมาเขียนในอนาคต) ด้วย เรามาเริ่มเลยดีกว่า:
1. ถามคนอื่นว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง? และตั้งใจฟังเขา
หากคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคิดมากที่รับรู้อารมณ์คนอื่นได้ยากเหมือนผม ให้คุณลองฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ แสดงความเห็นและถามคำถามที่ทำให้บทสนทนาไปต่อได้เรื่อย ๆ อาจเริ่มจากถามอีกฝ่ายว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง มันดูธรรมดาใช่ไหมครับ? แต่มันได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมนุษย์อยากเล่าเรื่องของตัวเองครับ
การฟังก็ไม่ใช่แค่ฟังให้พอผ่าน ๆ ไป แต่ต้องเข้าใจว่าอีกฝ่ายรู้สึกยังไงจากเรื่องนั้น นั่นแหละที่ยากสำหรับผม เพราะงั้นผมเลยใช้วิธีการที่ว่า ผมสงสัยอะไร ผมก็จะถามออกไปด้วยความเหมาะสม ความเหมาะสมคือ กาลเทศะครับ คุณต้องแยกให้ออกว่าเวลาไหนที่เหมาะสมในการถามออกไป มันต้องฝึกครับ อย่าคิดนานเกินไปจนไม่ได้ตั้งใจฟังหรือไม่ได้ตอบคำถามเขา ให้คิดว่ามันคือ การฝึกให้คิดเร็วทำพอดี ครับ การคิดเร็วทำพอดีคือ การใช้สัญชาตญาณผสมกับความคิด เพื่อสร้างคำตอบและคำถามออกมา แล้วลงมือทำด้วยจังหวะที่เหมาะสม หากลงมือทำเร็วเกินไป จะทำให้บรรยากาศพังได้ ผมเคยเจอกรณี ที่คนคิดเร็วทำเร็ว ทำให้บรรยากาศการพูดคุยไม่ไหลลื่นครับ เรื่องที่เขาเล่ามีประโยชน์จริง ๆ แต่พูดไม่ถูกเวลา จนมันน่าเสียดายในความรู้อันนั้น เพราะงั้น ถามคนอื่นว่า วันนี้เป็นยังไงบ้าง? จากนั้นตั้งใจฟังเขาให้ดีครับ
2. คุยกับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจ ถ้าเป็นไปได้ ไปเจอหน้าพวกเขา
เรื่องนี้ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมองการพูดคุยเลยครับ ว่าการคุยแบบเห็นหน้ามันส่งผ่านความรู้สึกออกมา มากกว่าการเปิดกล้องคุยกัน การอยู่ร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องที่เราต้องเจอหน้าเจอตากันครับ คุณจะบอกว่า ทั้งชีวิตของฉันจะอยู่แต่ในโลกออนไลน์ ไม่ได้นะครับ (ผมหมายถึงตัวเองด้วยครับ) การเจอกับมนุษย์จริง ๆ ทำให้ผมรู้ว่า ผมมีเรื่องอะไรให้เรียนหลายอย่าง เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข มันคือวินัยที่เราต้องสร้าง และการจะรู้ว่าเราพลาดเรื่องอะไรไป เราต้องคุยกับคนอื่นครับ และถ้าหากไม่มั่นใจในการพูดกับคนอื่น ให้คุณพูดคุยกับเพื่อนสนิทครับ และถ้าเป็นไปได้ ให้ไปเจอหน้าพวกเขาด้วย
แววตาและน้ำเสียงของเพื่อนในชีวิตจริง มันดูเป็นมนุษย์มากกว่าในโลกออนไลน์ ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ทำงานในโลกออนไลน์เป็นคนไร้จิตวิญญาณนะครับ เพียงแต่ความรู้สึกที่ส่งผ่าน พลังงานที่มอบให้มันต่างกันโดยสิ้นเชิง ผมได้ไปงานหนังสือกับคู่หูและเพื่อน ๆ ในกลุ่มครับ ได้เจอกับ หมอตัง และ พี่ฟาโรห์ จาก REAL พวกเขาตอนเล่าเรื่องคดีสืบสวน เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ แต่พอผมได้เจอพวกเขาตัวเป็น ๆ ผมรู้เลยว่า พวกเขาให้พลังงานแรงบันดาลใจที่มากกว่าตอนผมฟังพวกเขาในคลิปซะอีก พวกเขาดูมีประกายแห่งความเป็นมนุษย์ ผมไม่ได้ไปซื้อหนังสือพวกเขาก็จริง แต่แค่มองพวกเขาผมก็รู้สึกว่าผมได้แรงบันดาลใจอะไรกลับไปแล้วครับ ผมต้องขอโทษพี่นักวาดท่านหนึ่งที่อยู่ในบูธขายหัวเราะด้วย ที่ไปยืนบังพี่เขาซะมิดเลย (ฮา)
3. ทำสมาธิ
มันจะไปพลาดหัวข้อนี้ได้ยังไงครับ ผมเป็นนักเขียนที่ชอบศาสนาพุทธและการเติบโตทางจิตวิญญาณ ผมต้องเอาวิธีการทำสมาธิมาฝากอยู่แล้ว การทำสมาธิมีได้หลายรูปแบบ จะยืน จะนั่ง หรือจะนอนก็ยังได้ สิ่งที่เป็นแกนหลักของการทำสมาธิคือ การอยู่กับตัวเองในทุกการกระทำ คุณรู้ตัวไหมครับว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่? รู้หรือเปล่าว่ามือของคุณในตอนนี้วางไว้ตรงไหน? รู้หรือเปล่าว่า อุณหภูมิในห้องตอนนี้เป็นยังไง? ร้อนหรือหนาว? ถ้าหากคุณรู้ เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า การอยู่กับปัจจุบัน
สมาธิเกิดขึ้นจากการที่คุณอยู่กับปัจจุบันครับ ตามหลัก อริยมรรค 8 ของศากยมุนี ก่อนหน้าที่เราจะมีสมาธิ (สัมมาสมาธิ) เราต้องมีสติ (สัมมาสติ) และถ้าหากคุณสงสัยว่า สติมีได้ด้วยอะไร? ผมก็จะบอกว่า สติมีได้ด้วยการพยายาม การพยายามนั้นคือการแยกว่าอะไรดีอะไรไม่ดี การจะทำแบบนั้นได้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้ครับ ไม่งั้นเราจะแยกไม่ถูก แต่ถ้าหากมันฟังดูเข้าใจยาก ผมแนะนำให้คุณลอง มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ของคุณครับ แค่มีสติกับลมหายใจก็ถือว่าช่วยได้เยอะแล้ว
พลังของสติจะทำให้เกิดพลังของสมาธิ และพลังของสมาธิจะทำให้เกิดพลังงานอันยิ่งใหญ่ตามมา คุณสงสัยไหมว่าอะไรทำให้มนุษย์ที่อ่อนแอบริหารมนุษย์ที่แข็งแรงกว่าได้? พวกเขาใช้สติ, สมาธิ เพื่อทำให้เกิดปัญญา และปัญญาของพวกเขาทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนที่แข็งแรงกว่าได้โดยสันติ และคนที่แข็งแรงจะอ่อนน้อมกับคนที่อ่อนแอกว่า เพราะคนอ่อนแออ่อนน้อมต่อเขาด้วยพลังปัญญา, สมาธิ, และสติ
สรุปเรื่องทั้งหมด
คนคิดมากอาจจะสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในวงสนทนา แต่คนคิดมากก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการสังคม เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องการเข้าสังคมได้ คนคิดมากไม่ได้กังวลว่า สังคมมันห่วยแตก ฉันควรทำไงดี? แต่กังวลว่า เราจะเข้าสังคมยังไงดี ไม่ให้ห่วยแตก? คนคิดมากอย่างผมแคร์ภาพลักษณ์ตัวเองที่สังคมมองครับ ผมเลยคิดว่า จะทำยังไงให้สังคมยอมรับตัวผม การอยู่ร่วมกันในอุดมคติของคนคิดมากคือ การที่ตัวเราไม่สร้างภาระให้กับใคร และวางตัวดีอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ความจริงมันไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้
ความจริงที่ผมเจอคือ ผมไม่สามารถวางตัวดีอย่างสมบูรณ์แบบได้ มีแต่วางตัวเท่าที่ตัวเองทำได้เท่านั้น สังคมอาจต้องการวิธีการและการแก้ไขที่สมบูรณ์แบบ แต่วิธีการและการแก้ไขเหล่านั้นมาจากตัวตนที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบเลย พวกเราไม่ใช่พระเจ้าหนึ่งเดียวที่สร้างทุกอย่างออกมาเป็นระบบได้อย่างยอดเยี่ยม ธรรมชาติ คือผลงานชิ้นเอกของพระเจ้า ที่มนุษย์อย่างเราหวังว่าจะก็อปปี้มันได้ แต่เราทำไม่ได้หรอก สิ่งที่มนุษย์อย่างเราทำได้คือ การทำผลงานของมนุษย์ให้ดูเป็นมนุษย์มากที่สุด วิธีการและการแก้ไขที่สมบูรณ์แบบจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของมนุษย์นั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น