ปรัชญาในการใช้ชีวิต จากคนคิดมาก
| "He who has a why to live can bear almost any how. " (Friedrich Nietzsche, 1888)
การใช้ชีวิตเป็นเหมือนปรัชญาที่เราต้องออกหาคำตอบ บางคนอาจได้คำตอบว่า ชีวิตฉันไม่ต้องการปรัชญา แต่สำหรับชีวิตผมมันคือสิ่งที่ผมต้องตามหาให้เจอ สำหรับคนคิดมาก ความคิดต่าง ๆ จะเข้ามาในหัวเราไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าพวกเราจะต้องการความคิดพวกนั้นหรือไม่ ในหัวของพวกเราจะยุ่งเหยิงด้วยความคิดเหล่านั้นตลอดวัน หรือตลอดเดือน หรืออาจจะเป็นตลอดทั้งชีวิต
ผมเขียนบทความเพื่อเป็นเหมือนสมุดการเดินทาง ผมเขียนเพื่อให้ผมยังคงสติไว้ (Keep me sanity) ผมเป็นคนคิดมากคนหนึ่งที่ต้องรับมือกับปัญหาของการเติบโต การเติบโตที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหยุด ในบทความนี้เลยเป็นเหมือนการแบ่งปันว่า ผมเจอปรัชญาอะไรบ้างที่เข้ามาในชีวิตและช่วยให้ผมคงสติเอาไว้ได้ สำหรับคนคิดมากที่ต้องการหาอะไรบางอย่างมาเป็นเสาหลัก ปรัชญาเหล่านี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคุณก็ได้ครับ
เต้าเต๋อจิง (Tao Te Ching)
เต้าเต๋อจิงคือลัทธิที่ถูกสร้างขึ้นจากนักปราชญ์จีนที่ชื่อว่า เล่าจื๊อ หรือจะเรียกวา เหล่าจื่อ ก็ได้ แล้วแต่สะดวก เขาได้เขียนคัมภีร์ในการดำเนินชีวิตอย่าง คัมภีร์เต๋า ที่สอนสั่งผู้คนในประเทศจีน และกลายมาเป็นรากฐานของปรัชญาจีนในเวลาต่อมา
หลักของเต้าเต๋อจิงคือ การดำเนินตามวิถีของธรรมชาติ โดยที่ตัวเราไม่ขัดขืน ผมเชื่อว่าความคิดมากไม่ได้เป็นธรรมชาติที่เราชอบ แต่เมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ก็คงพูดได้ว่า เราต้องหาทางอยู่ร่วมกับมันให้ได้ หลายครั้งที่คนคิดมากจะขัดขืนและไม่ชอบใจกับพฤติกรรมของตนที่สร้างภาระให้กับคนอื่น การอยู่ร่วมกันกับความคิดมากเลยเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ การดำเนินตามวิถีของธรรมชาติ ไม่ได้หมายความว่า เราจะละเลยการพัฒนาตัวเองและปล่อยให้ชะตากรรมคัดสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เรา แต่การดำเนินตามวิถีของธรรมชาติคือ การลงมือขูดเกลากิเลศและฝึกฝนตนด้วยวิธีการที่เรียบง่าย ความคิดมากคือสิ่งที่เราต้องนำมาขูดเกลาเพื่อให้เราเข้าสู่ธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง ผมสับสนกับคำว่า ทำโดยไม่ทำ ของปรัชญานี้นานพอสมควร จนเข้าใจว่า เราไม่ทำในกิจของคนอื่น แต่เราทำในกิจของตัวเอง ความคิดมากคือ ความคิดที่คิดแทนคนอื่นว่าเขารู้สึกกับเรายังไง การฝึกของเต้าเต๋อจิงจึงเป็นเรื่องของการฝึกอยู่กับปัจจุบันและขูดเกลากิเลศที่เกิดขึ้น ด้วยวิถีที่ยึดกับหลักการที่ไม่ซับซ้อนแต่มีความหมาย
จิตวิญญาณ (Spiritual)
Spiritual ค่อนข้างเป็นคำที่กว้างและใช้ในหลายลัทธิ เราจะได้ยินคำนี้บ่อย ๆ ในสายของคนที่นับถือ วิคคา (Wicca) แต่แก่นหลักของ Spiritual คือการได้เชื่อมต่อกับจักรวาล (หรือจะเรียกว่า ธรรมชาติ ก็ได้) และตัวตนข้างในของตัวเอง
ผมได้เจอกับศาสตร์นี้จากเพื่อนที่ฝึกฝนด้านนี้มาประมาณ 2-3 คน บางคนยอมรับว่าตัวเองเป็นวิคคา บางคนก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไรแบบนั้น แต่สำหรับคนสุดท้ายตอบได้น่าสนใจมาก เธอบอกว่า "Spiritual เป็นวิถีชีวิต" คำว่าวิถีชีวิต เรามักจะนึกถึงความเรียบง่ายของการเดินไปตากผ้าในเช้าที่ฟ้าปลอดโปร่ง นั่งดื่มน้ำชาและกินขนมก่อนเวลาเที่ยง และทำงานอย่างขยันขันแข็งจนตะวันตกดิน หรือคุณอาจคิดถึงภาพคนไปทำงานในเช้าวันจันทร์และกลับบ้านด้วยร่างกายที่อิดโรย หากคุณมองว่าวิถีชีวิตมันไม่ได้หรูหราอะไร Spiritual ในความหมายนี้ก็เหมือนกัน มันไม่ได้ทำให้คุณกลายเป็นจอมขมังเวทย์ แต่มันทำให้คุณเข้าใจในสิ่งที่คุณต้องการอยู่ลึก ๆ คนคิดมากมักจมอยู่กับความคิดเห็นที่ตัวเองสร้างขึ้น จนลืมมองไปยังตัวตนข้างในที่นั่งอยู่มุมห้อง การฝึกของ Spiritual จะแตกต่างกันออกไปตามการตีความของแต่ละคน ผมสามารถบอกได้ว่า การกวาดพื้นด้วยสมาธิ นับว่าเป็นการฝึกของ Spiritual ได้พอ ๆ กับการทำพิธีกรรมเชื่อมการติดต่อ (Connective Evocade) แต่แก่นหลักของการฝึกคือ การที่คุณมีสมาธิเพื่อได้รู้สึกและสัมผัสตัวตนจิตวิญญาณของคุณภายใน และทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่งดงามหรือจักรวาลอันลึกลับ ได้อย่างสบายใจและเติมเต็ม
พุทธปรัชญา (Buddhism)
มันอดใจไม่ไหวที่ผมจะไม่พูดปรัชญาหลักของผม เต้าเต๋อจิง และ Spiritual เป็นปรัชญาที่น่าสนใจ แต่ผมมักกลับมาตายรังที่บ้านเก่านี้เสมอ คนไทยเรารู้สึกผูกพันธ์ (ไม่มากก็น้อย) กับศาสนาพุทธ เราเจอเรื่องที่เราชอบและไม่ชอบเกี่ยวกับศาสนานี้ เราอยู่ในยุคที่ตอนนี้ ฆราวาส i.e. คนธรรมดาทั่วไป สอนธรรมะลึกซึ้งกว่าพระที่จำวัดในกุฏิบางรูป แก่นหลักของพุทธปรัชญาคือ การเลิกยึดติด
ปล่อยวาง, ปล่อยวางเถิด ผมได้ยินคำนี้มาหลายครั้งเมื่อเจอคนที่กำลังโกรธหรือกำลังเสียใจหรือกำลังทำอะไรบางอย่างที่อารมณ์คลุกกรุ่น แต่พวกเขาทำได้จริงเหรอ? พูดปล่อยวางมันง่ายเสมอ แต่ การปล่อยวาง มันทำยังไงกันแน่? บางคนบอกให้นั่งหลับตาและคิดในใจว่าปล่อยวาง บางคนบอกให้สูดลมเข้าออกและคิดในใจว่าปล่อยวาง แต่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะทำให้พวกเขาหายจากความรู้สึกคลุกกรุ่นนั้นได้ การฝึกปล่อยวางคือ การมองเห็นมันอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่การขว้างมันลงกับพื้นแล้วบอกปล่อยวาง ในบทความที่ผมแทรกหลักปรัชญาพุทธ ผมมักบอกว่าการมองเห็นความคิดของเราอย่างที่มันเป็น คือทางออกที่ดีสำหรับคนคิดมาก เรากังวลว่าเราต้องทำอะไรกับมันหรือเปล่า? แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องทำอะไรเลย เราแค่มองมัน ถ้าหากคุณรู้สึกท้วมท้นจากความพยายามในการมองความคิด แปลว่าคุณมาผิดทางแล้ว จินตนาการถึงการจับนกในมือดูครับ ถ้าจับแรงเกินไปนกก็จะแหลกคามือ ถ้าจับหลวมเกินไปนกก็จะบินหนี ทางที่จับนกได้ดีที่สุดคือการจับนกอย่างพอดีครับ นกไม่บินหนีมือที่จับและนกไม่ได้แหลกคามือ; การเห็นความคิดก็เป็นทำนองเดียวกัน
สรุป
ชีวิตของเราทุกคนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน ชีวิตของคุณอาจไม่จำเป็นต้องการปรัชญาเลยก็ได้ สิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิต มักจะไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบอกกับเรา แต่เป็นเราต่างหากที่บอกกับตัวเอง ถ้าหากคุณรู้ว่าชีวิตของคุณไม่ต้องการปรัชญา นั่นก็ถือว่าดีมากแล้วครับ เพราะผมจะอนุมานว่า คุณได้ให้ความสำคัญกับบางสิ่งและยึดมันเป็นแกนหลักของชีวิต (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหรือเปล่า ผมไม่รู้ครับ) แต่ถ้าหากคุณยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง การทดลองดำเนินตาม แพ็คเกจ (Package) ความเชื่อและปรัชญาที่มีอยู่บนโลกนี้ มันก็อาจเป็นทางที่ทำให้คุณได้เจอชีวิตในแบบของตัวเองสักวัน
คุณอาจชอบลัทธิซาตาน หรืออาจชอบความเชื่อทุนนิยม หรืออะไรก็ตามที่คุณมองว่ามันทำให้คุณตื่นนอนจากเตียงเพื่อสูดอากาศของวันนี้ได้เต็มปอด ถ้าหากว่าความเชื่อและปรัชญาพวกนั้นมันทำให้คุณใช้ชีวิตที่สงบสุขและเป็นอิสระจากความคิดมาก ความเชื่อและปรัชญาพวกนั้นก็จะเป็น ปรัชญาชีวิตสำหรับคุณ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น